ประวัติผู้ก่อตั้งมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ
ศาสตราจารย์วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์
ปณิธานอันตั้งมั่น
ครั้งที่ผมได้โอกาสจาก Miss Genevieve Caulfield สตรีตาบอดชาวอเมริกันผู้ก่อตั้งโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ เธอบอกกับผมประโยคหนึ่งซึ่งมันดังก้องอยู่ในหัวผมจนทุกวันนี้
“…วิริยะ ถ้าเธอเติบโตขึ้นแล้วประสบความสำเร็จ เธอไม่ต้องตอบแทนฉัน แต่ขอให้เธอไปช่วยเหลือคนพิการในประเทศไทย…”
ศาสตราจารย์วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์
ประธานมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ และผู้ก่อตั้งศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียน
ข้อมูลส่วนตัว
เกิดวันที่ 3 มกราคม พ.ศ.2495 ปัจจุบันอายุ 68 ปี
สมรสกับนางมณี นามศิริพงศ์พันธุ์ มีบุตร 3 คน
เกียรติสูงสุดแห่งชีวิต
เครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้น มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก
ผลงานชิ้นสำคัญ
พ.ศ.2550 ศาสตราจารย์วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ ได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จึงได้ผสานความร่วมมือกับรัฐบาล ภายใต้การนำของ พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี เสนอให้มี พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เพื่อให้สิทธิคนพิการได้รับโอกาส พัฒนาความสามารถของตนเองอย่างเต็มศักยภาพ และสร้างสภาพแวดล้อมที่ให้ทุกคนเข้าถึง และใช้ประโยชน์ได้ และเพื่อให้คนพิการสามารถอยู่ร่วมกับบุคคลทั่วไปได้อย่างเสมอภาค
โดยพรบ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการฉบับนี้ มีส่วนสำคัญที่ทำให้นายจ้างที่ต้องจ้างงานคนพิการและไม่ได้จ้าง ต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการตามกฎหมาย เพื่อเป็นทุนสําหรับการใช้จ่ายเกี่ยวกับการคุ้มครองและพัฒนาสมรรถภาพคนพิการ การศึกษาและการประกอบอาชีพของคนพิการ รวมทั้งการส่งเสริมและการสนับสนุนการดําเนินงานขององค์กรที่เกี่ยวข้องกับคนพิการ โดยจัดสรรให้อย่างเป็นธรรมและทั่วถึง ซึ่งในแต่ละปีผู้ประกอบการมีการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนฯ ปีละกว่า 2 พันล้านบาท แต่การใช้จ่ายตามวัตถุประสงค์กลับน้อยกว่ามาก ส่งผลให้กองทุนฯ มีเงินสะสมสูงถึง 1 หมื่นล้านบาท
การศึกษา
พ.ศ.2513 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จากโรงเรียนเซนต์คาเบรียล
พ.ศ.2515 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 จากโรงเรียนอัสสัมชัญ บางรัก
พ.ศ.2519 นิติศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยม) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
พ.ศ.2520 เนติบัณฑิต จากสำนักอบรมศึกษาทางกฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา
พ.ศ.2524 นิติศาสตร์มหาบัณฑิต สาขากฎหมายแพ่ง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
พ.ศ.2526 ปริญญาโท สาขากฎหมายภาษีอากร (LLM. in Taxation) จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา
บทบาทและหน้าที่ปัจจุบัน
- รับราชการ ตำแหน่งศาสตราจารย์ระดับ 10 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- กรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ (โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน)
- ผู้ก่อตั้งและประธานมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ
- กรรมการอำนวยการสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย
- กรรมการสภาสถาบันอาศรมศิลป์
- กรรมการมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
- กรรมการมูลนิธิสถาบันผู้นำคนตาบอด
- กรรมการมูลนิธิ APCD
- กรรมการมูลนิธิคนตาบอดไทย
- กรรมการสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย
บทบาทและหน้าที่เพื่อประโยชน์ของสังคมที่ผ่านมา
- สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
- สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ
- สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 2 สมัย
- กรรมการของคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฎิรูปการศึกษา
- ประธานอนุกรรมการเด็กเล็ก ของคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา
- กรรมการนโยบายขององค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (Thai PBS)
- คณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทย (ชุดท่านอานันท์ ปันยารชุน)
- ประธานเครือข่ายด้านคนพิการเพื่อการปฏิรูป สมัชชาปฎิรูปแห่งประเทศไทย
- ประธานสถาบ้นกฎหมายภาษีอากร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
- กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของสภาการศึกษา
- กรรมการสภาสถาบันวิทยาลัยชุมชน
- รองประธานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาสำหรับคนพิการ
- รองประธานคณะกรรมการกองทุนส่งเสริมการศึกษาสำหรับคนพิการ
- อนุกรรมการที่ปรึกษาด้านภัยพิบัติของ กสทช.
- อนุกรรมการที่ปรึกษากฎหมายของ กสทช.
- ประธานสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย สามสมัย
- ประธานมูลนิธิธรรมิกชนเพื่อคนตาบอด ในพระบรมราชูปถัมภ์ 2 สมัย
ผลงานด้านการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน
ศาสตราจารย์วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ ได้ทำหน้าที่เป็นแกนนำรณรงค์ให้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 (มาตรา 30,55,80) และ พ.ศ.2550 (มาตรา 30,49,54,80) มีบทบัญญัติประกันสิทธิคนพิการและมีแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐให้พัฒนาคนพิการ ให้พึ่งตนเองได้ ส่งเสริมความเสมอภาคและขจัดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล โดยรณรงค์ให้มีพระราชบัญญัติหลายฉบับ ดังต่อไปนี้
- พรบ.การฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ พ.ศ.2534
- พรบ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550
- พรบ.การจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ พ.ศ.2551
- ยกเลิกกฎหมายจำกัดสิทธิคนพิการ ให้มีกฎหมายส่งเสริมหรือขจัดอุปสรรค เพื่อให้คนพิการมีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกับบุคคลทั่วไปเช่น พรบ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2518 และ 2551 ให้คนพิการเป็นข้าราชการพลเรือนได้
- พรบ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2550
- พรบ.ข้าราชการการเมือง พ.ศ.2535 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2550
- พรบ.การประกอบ โรคศิลปะ พ.ศ.2542 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2550 เป็นต้น
ในขณะเดียวกันได้เร่งรัดให้รัฐบาลลงนามและให้สัตยาบรรณอนุสัญญาว่าด้วย สิทธิคนพิการ(CRPD) เป็นประธานจัดทำโครงการสัมมนาเพื่อระดมความคิดเห็นในการจัดทำอนุบัญญัติ ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 ซึ่งสามารถยกร่างอนุบัญญัติได้ครบถ้วน ซึ่งมีมากกว่า 25 ฉบับ ในระหว่างดำรงตำแหน่งรองประธานกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และความมั่นคงแห่งชาติ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในระหว่าง พ.ศ.2549-2551 และได้ร่วมผลักดันให้มีกฎหมายเกี่ยวกับเด็กเยาวชนสตรี และความมั่นคงของมนุษย์อีกหลายฉบับ
ศาสตราจารย์วิริยะ ยังเป็นแกนนำรณรงค์ให้มีแผนส่งเสริมและพัฒแนาคุณภาพชีวิตคนพิการฉบับที่ 1 3 (2540-2544) และเป็นประธานโครงการจัดสัมมนาเพื่อจัดทำแผนสิทธิมนุษยชนของคนพิการ มีการรณรงค์ให้คนพิการและผู้ดูแลคนพิการทราบถึงสิทธิตามกฎหมายของตนและประโยชน์ ของแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ฉบับที่ 1-3 อีกทั้งขับเคลื่อนให้คนพิการได้รับสิทธิประโยชน์ตามสิทธิและแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนพิการตลอดจนให้ความช่วยเหลือคนพิการ ทางด้านกฎหมาย การศึกษา อาชีพ และความช่วยเหลืออื่น ผ่านองค์กรที่ตนดำรงตำแหน่งกรรมการ และเป็นประธานหลายแห่ง เช่น สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย, สภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย, มูลนิธิธรรมิกชนเพื่อคนตาบอด, มูลนิธิคนตาบอดไทย, มูลนิธิส่งเสริมอาชีพคนตาบอดและมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ (พ.ศ.2526-ปัจจุบัน)
อีกทั้งได้มีการจัดทำวิจัย เขียนหนังสือบทความเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนคนพิการ เช่น งานวิจัยการแก้ไขกฎหมาย ศึกษากรณีกฎหมายและระเบียบที่จำกัดสิทธิคนพิการในการประกอบอาชีพ ปีพ.ศ.2546 จัดทำหนังสือ “กฎหมายและนโยบายของรัฐเกี่ยวกับคนพิการ” พ.ศ.2539 บทความศีลธรรมและกฎหมายสิทธิมนุษยชน พ.ศ.2540, อุปถัมภ์อำนาจนิยมและสิทธิมนุษยชนในสังคมไทย พ.ศ.2543
รางวัลแห่งความภาคภูมิใจ
- สอบได้อันดับที่ 1 ของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และได้รับรางวัลภูมิพล
- รางวัลบุคคลดีเด่นของชาติ สาขาพัฒนาสังคม (ด้านกฎหมาย) จากสำนักงานคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ พ.ศ.2546
- รางวัลคนพิการตัวอย่าง จากสภาสังคมสงเคราะห์ฯ พ.ศ.2527
- รางวัลผู้ให้ความร่วมมือส่งเสริมและสนับสนุนงานสวัสดิการคนพิการจากคณะกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ พ.ศ.2541 ฯลฯ
- รางวัลพ่อดีเด่นแห่งชาติ จากสภาสังคมสงเคราะห์ พ.ศ.2546
- รางวัลผู้ทำคุณประโยชน์ให้แก่กระทรวงศึกษาธิการ 3 สมัยติดต่อกัน ระหว่าง พ.ศ.2545-2547