เกี่ยวกับเรา

ประวัติมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ

Universal Foundation For Persons With Disabilities

          มูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ (Universal Foundation For Persons With Disabilities) ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2542 ตามใบอนุญาตจัดตั้งสมาคมหรือองค์การ เลขอนุญาตที่ ต.50/2542  โดยมีศาสตราจารย์วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ พร้อมด้วย นายวิรัช ศรีตุลานนท์  ศาสตราจารย์แสวง บุญเฉลิมวิภาส และ นางมณี นามศิริพงศ์พันธุ์ เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง ด้วยวัตถุประสงค์หลักคือการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ทั้งในด้านส่งเสริมสนับสนุนคนพิการให้ได้รับโอกาสพัฒนาความสามารถในระดับบุคคลอย่างเต็มศักยภาพ empowerment และมุ่งขจัดสภาพแวดล้อมที่เป็นอุปสรรคต่อคนพิการ และมุ่งสนับสนุนให้เกิดสภาพแวดล้อมที่คนพิการทุกคนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ (Barrier Free)

 

          มูลนิธิฯ ได้ดำเนินโครงการต่างๆ โดยคำนึงถึงประโยชน์ที่จะเกิดแก่คนพิการเป็นสำคัญ มุ่งเน้นการพัฒนาผู้พิการทุกช่วงวัยเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อาทิ การจัดตั้งศูนย์การศึกษาพิเศษ หน่วยบริการนครชัยศรี จ.นครปฐม เพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพเด็กเล็กผู้พิการ, ศูนย์บริการถ่ายทอดการสื่อสารแห่งประเทศไทย (TTRS) สำหรับผู้บกพร่องทางการได้ยิน, โครงการหอศิลป์ยิ้มสู้, โครงการศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียน 4 แห่ง ได้แก่ ศูนย์ฝึกอาชีพฯ ส่วนกลาง กรุงเทพฯ (ยิ้มสู้คาเฟ่), ศูนย์ฝึกอาชีพฯ อ.แม่ริม และอ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ และศูนย์ฝึกอาชีพฯ อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม เพื่อฝึกทักษะอาชีพด้านอาหาร เครื่องดื่ม และเกษตรกรรม และอุตสาหกรรมแปรรูปให้แก่คนพิการ เพื่อให้คนพิการและผู้ดูแลคนพิการนำความรู้ที่ได้ไปประกอบอาชีพสร้างรายได้เลี้ยงดูตนเองและครอบครัว

 

ชื่อและความหมาย

ชื่อมูลนิธิ : มูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ

ชื่อย่อภาษาไทย : มสพ.

ชื่อภาษาอังกฤษ : Universal Foundation for Persons with Disabilities

ชื่อย่อภาษาอังกฤษ : UFP

เครื่องหมายของมูลนิธิ

เปลวไฟ และ แผนที่ประเทศไทย

          ที่มาของชื่อมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เป็นมูลนิธิของทุกคน ทุกชาติ ทุกศาสนาที่จะทำงานร่วมกันในการพัฒนาคนพิการให้พึ่งตนเองได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดีเท่าเทียมกับบุคคลทั่วไป สามารถรวมพลังสร้างสรรค์สังคมให้เป็นสังคมที่น่าอยู่สำหรับทุกคน เป็นการเพิ่มศักยภาพคนพิการให้พ้นจากการเป็นภาระไปสู่การเป็นพลังของสังคม

          ในการจดทะเบียนใช้ชื่อคำว่ามูลนิธิสากลมีปัญหา เพราะเลขาสำนักงานวัฒนธรรมแห่งชาติในขณะนั้น แจ้งให้ขอหนังสือยินยอมจากสหประชาชาติ หรือมิฉะนั้นต้องหาผู้ที่มีชื่อว่าสากลมาให้ความยินยอมหรือร่วมก่อตั้งมูลนิธิด้วย เลขาสำนักงานวัฒนธรรมแห่งชาติในขณะนั้นเสนอแนะให้ใช้ชื่อมูลนิธิว่ามูลนิธิวิริยะเพื่อคนพิการ ตามชื่อของศาสตราจารย์วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง แต่ศาสตราจารย์วิริยะไม่เห็นด้วย จึงมุ่งหาผู้ที่มีชื่อว่า “สากล” มาร่วมก่อตั้งมูลนิธิ ในที่สุดเลขาสำนักงานวัฒนธรรมแห่งชาติก็ยินยอมให้ใช้ชื่อ “มูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ” ได้

สัญลักษณ์และความหมาย

สัญลักษณ์ของมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ ประกอบด้วย “เปลวไฟ” และ “แผนที่ประเทศไทย” 

โดย เปลวไฟ สื่อความหมายถึง ความร้อนคือพลัง แสงสว่างคือปัญญา

ส่วน แผนที่ประเทศไทย คือ คนพิการและผู้ด้อยโอกาสทุกคนในประเทศไทย

เมื่อทั้ง 2 ส่วนนำมาจัดวางรวมกันจึงความหมายถึง “พลังและปัญญา” สำหรับคนพิการและผู้ด้อยโอกาสทุกคนในประเทศไทย ศาสตราจารย์วิริยะมีความเชื่อว่า การที่จะพัฒนาคนพิการให้พึ่งตนเองได้นั้น ต้องอาศัยกำลังใจหรือจิตใจที่เอาจริงเอาจัง ไม่ท้อแท้ท้อถอยอีกทั้งต้องใช้ปัญญาอย่างมาก จึงจะประสบผลสำเร็จ อีกทั้งสอดรับกับความเชื่อของศาสนาคริสต์ ที่ใช้สัญลักษณ์เปลวไฟหรือลิ้นไฟหมายถึง พระจิตเจ้าผู้ประทานพลังจิตและปัญญาให้แก่มนุษย์ และศาสนาพุทธเองก็ให้ความสำคัญเรื่องของพลังจิตและปัญญาเช่นกัน จึงมีความหวังว่าพระจิตเจ้าจะประทานพลังและ ปัญญาให้แก่คนพิการและผู้ด้อยโอกาสทุกประเภทในประเทศไทย เพื่อบุคคลเหล่านั้นจะได้พัฒนาตนเองให้ไปถึงจุดที่สามารถพึ่งพาตนเองได้ และร่วมสร้างประโยชน์ให้แก่สังคมเฉกเช่นบุคคลทั่วไป

  • จุดเริ่มต้นการก่อตั้งมูลนิธิฯ

          สืบเนื่องจากเหตุการณ์วิกฤตทางการเงินในภูมิภาคเอเชียเมื่อปี พ.ศ.2540 หรือ วิกฤตต้มยำกุ้ง ค่าเงินบาทลดลงอย่างมาก โดยเกิดจากการที่รัฐบาลไทยได้ปล่อยลอยตัวค่าเงินบาท ตัดการอิงเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนลงตัวอย่างมากจาก 25 บาท/เหรียญ กลายเป็น 50 บาท/เหรียญ ธนาคารขนาดเล็กและบริษัทที่กู้ยืมเงินจากต่างประเทศจึงล้มละลายเป็นจำนวนมาก หุ้นตกต่ำอย่างรุนแรง ทำให้ผู้ลงทุนในหุ้นขาดทุนกันถึงขั้นล้มละลาย

          ศาสตราจารย์วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ (ณ ขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์) จึงได้เขียนหนังสือชื่อ “สู้ชีวิต เคราะห์สร้างโอกาส” ขึ้นในปีพ.ศ.2541 เนื้อหาได้มีการบอกเล่าประวัติชีวิตส่วนตัวเมื่อครั้งยังเป็นเยาวชนที่ควรมีอนาคตสดใสแต่กลับประสบอุบัติเหตุถึงขั้นตาบอดสนิททั้ง 2 ข้าง และยังสูญเสียนิ้วมือบางส่วน แต่ในที่สุดก็สามารถกลับมายืนหยัดและดำเนินชีวิตต่อไปอย่างมีเป้าหมายและประสบความสำเร็จทั้งในหน้าที่การงานและชีวิตส่วนตัว หนังสือเล่มนี้ได้สร้างกำลังใจแก่ผู้อ่าน ให้สามารถต่อสู้กับปัญหาและก้าวผ่านวิกฤตต่างๆ ที่เกิดในชีวิตไปได้ ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี จนได้รับการตีพิมพ์ซ้ำถึง 2 ครั้งภายในปีเดียวกัน

          จากยอดจำหน่ายหนังสือที่ประสบความสำเร็จเกินกว่าที่คาดหวังไว้ ศาสตราจารย์วิริยะจึงนำผลกำไรที่ได้รับไปต่อยอดให้เกิดประโยชน์อย่างกว้างขวางแก่ผู้ด้อยโอกาสในสังคมมากยิ่งขึ้น โดยการจัดตั้ง มูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ ภายใต้หลักคิด เปลี่ยนเคราะห์ให้เป็นโอกาส ขับเคลื่อนภารกิจต่างๆ ที่จะสนับสนุนให้คนพิการได้รับการพัฒนาศักยภาพในแง่มุมต่างๆ อย่างเหมาะสมและเท่าเทียม

ความพิการมันไม่สำคัญ แต่ความสำคัญคือความเสมอภาคในเรื่องโอกาส
ข้อความบันดาลใจ โดย ศาสตราจารย์วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์

  • บทบาทและหน้าที่

          เมื่อมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการก่อตั้งเสร็จสมบูรณ์ ศาสตราจารย์วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ ในฐานะประธานมูลนิธิฯ ก็ได้เริ่มขับเคลื่อน ภารกิจแรก ในทันที โดยได้ร่วมมือกับ สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการจัดตั้ง ศูนย์การศึกษาพิเศษ เพื่อเตรียมความพร้อมเด็กพิการให้สามารถเข้าเรียนร่วมกับเด็กปกติได้ และให้การสนับสนุนสื่อการเรียนการสอน อุปกรณ์ และการช่วยเหลือต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาแก่เด็กพิการที่เรียนรวมกับเด็กทั่วไป ด้วยการอนุญาตให้ศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดต่างๆ ที่จัดตั้งขึ้นใหม่ แต่ขาดแคลนทรัพยากรที่จะใช้ดำเนินงานภายในศูนย์ฯ ได้จัดตั้งสาขามูลนิธิสากลเพื่อคนพิการประจำจังหวัดนั้นๆ เพื่อหารายได้มาสนับสนุนกิจกรรมของศูนย์การศึกษาพิเศษ

  • สารคดียิ้มสู้

          ในปีพ.ศ.2449 มูลนิธิสากลเพื่อคนพิการได้ผลิต สารคดียิ้มสู้ โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณ จากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) อนุญาตให้ใช้เพลงพระราชนิพนธ์ยิ้มสู้ ประกอบสารคดี โดยสารคดีชุดนี้นำเสนอเนื้อหาที่มุ่งให้สังคมได้รับรู้และตระหนักถึงความสามารถหรือศักยภาพของคนพิการเป็นสำคัญ ออกรายการครั้งแรกที่สถานีวิทยุโทรทัศน์ TNN

          ต่อมาพ.ศ.2551 สถานีโทรทัศน์ TPBS (สถานีโทรทัศน์ Thai PBS ในปัจจุบัน) ได้สนับสนุนงบประมาณการผลิตและช่วงเวลาสำหรับออกอากาศสารคดียิ้มสู้ นับตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม พ.ศ.2551 ต่อเนื่องเป็นเวลา 3 ปี โดยออกอากาศทุกวันพฤหัสบดี เวลา 13.30-14.00 น. ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม พ.ศ.2551-2554

  • หอศิลป์ยิ้มสู้

          จากการผลิตสารคดียิ้มสู้ ทางมูลนิธิฯ ได้พบเห็นผลงานด้านศิลปะหัตถกรรมโดยฝีมือของคนพิการจากทั่วประเทศ จึงได้จัดซื้อและรวบรวมไว้เป็นจำนวนมาก นำไปสู่การจัดตั้ง หอศิลป์ยิ้มสู้ ขึ้นที่ สำนักงานของมูลนิธิฯ ในปีพ.ศ. 2552 เพื่อจัดแสดงผลงานศิลปะหัตถกรรมของคนพิการทุกประเภท โดยผลงานศิลปะที่มีความโดดเด่นและแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของคนพิการอย่างแท้จริง คือ ภาพวาดบนผืนผ้าใบ ของอาจารย์ทนง โคตรชมภู ศิลปินผู้ใช้ปากวาดรูปที่มีชื่อเสียงระดับโลก และอุทิศตนเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับทุกคนโดยเฉพาะผู้พิการ โดยการสร้างสรรค์งานศิลปะได้รับรางวัลยกย่องระดับประเทศนับไม่ถ้วน

  • บ้านยิ้มสู้

          พ.ศ.2552 เมื่อมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ ได้จัดตั้งสำนักงานถาวรขึ้น ณ อาคารเลขที่ 27/45 ซอยอรุณอมรินทร์ 39 แขวงอรุณอมรินทร์ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร 10700 ได้มีการจัดสรรพื้นที่ภายในอาคารจัดตั้ง บ้านยิ้มสู้ หรือ ศูนย์การศึกษาพิเศษส่วนกลาง สาขาธนบุรี ขึ้น โดยเป็นความร่วมมือกันระหว่างมูลนิธิฯ กับศูนย์การศึกษาพิเศษส่วนกลาง สังกัด สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ โดยมุ่งเน้นการดูแลเด็กเล็กผู้พิการในพื้นที่ฝั่งธนบุรีที่ครอบครัวมีความขัดสน ได้รับสิทธิและโอกาสทางการศึกษาอย่างเท่าเทียม เพราะเด็กพิการหากได้รับการพัฒนาและฟื้นฟูเร็ว ก็จะทำให้ความพิการลดน้อยลง โดยมีครูการศึกษาพิเศษเฉพาะทาง นักกายภาพบำบัด รวมถึงแพทย์จากโรงพยาบาลศิริราชมาให้คำแนะนำ โดยให้บริการฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย

          ในปีพ.ศ.2563 มูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ ได้เปิด บ้านยิ้มสู้ หลังที่ 2 หรือ ศูนย์การศึกษาพิเศษ เขตการศึกษา 1 หน่วยบริการนครชัยศรี อันเป็นความร่วมมือกับศูนย์การศึกษาพิเศษ เขตการศึกษา 1 จังหวัดนครปฐม โดยมูลนิธิฯ ได้สนับสนุนการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการครั้งนี้ ในรูปแบบของการจัดสรรพื้นที่ภายในศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียน อำเภอนครชัยศรี สำหรับจัดสร้างอาคาร 3 หลัง ได้แก่ สำนักงาน ห้องเรียน ลานกิจกรรม และยังพร้อมให้การสนับสนุนการฝึกอาชีพสำหรับผู้ปกครองและคนพิการ และจัดหาบุคลากรทางการศึกษาที่มีประสบการณ์ด้านการศึกษาพิเศษให้ด้วย

  • ศูนย์บริการถ่ายทอดการสื่อสารแห่งประเทศไทย (Thai Telecommunication Relay Service)

          พ.ศ.2554 มูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ ร่วมกับ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) จัดตั้ง ศูนย์บริการถ่ายทอดการสื่อสารแห่งประเทศไทย (Thai Telecommunication Relay Service) เพื่อให้บริการการสื่อสารสำหรับผู้พิการทางการได้ยิน ซึ่งพบว่าศูนย์บริการแห่งนี้ ช่วยให้ผู้พิการทางการได้ยินสามารถสื่อสารกับคนปกติได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงนำไปสู่การลงนามในบันทึกความร่วมมือ (MOU) ระหว่าง มูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ และ สำนักงานกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในการจัดบริการถ่ายทอดการสื่อสารให้คนหูหนวกสามารถสื่อสารกับคนปกติได้ผ่าน 7 วิธีการ ได้แก่

  1. การสื่อสารแบบข้อความสั้น (SMS)
  2. การสื่อสารแบบรับ ส่งข้อความผ่านแอปพลิเคชัน TTRS Message
  3. การสื่อสารแบบสนทนาข้อความผ่านแอปพลิเคชัน TTRS Live Chat
  4. การสื่อสารแบบสนทนาข้อความบนอินเทอร์เน็ต
  5. การสื่อสารแบบแปลงเสียงเป็นข้อความผ่านแอปพลิเคชัน TTRS Captioned Phone
  6. การสื่อสารแบบสนทนาวิดีโอผ่านแอปพลิเคชัน TTRS Video
  7. การสื่อสารแบบสนทนาวิดีโอบนอินเทอร์เน็ต

          โดยความร่วมมือในครั้งนี้ กสทช. ได้สนับสนุนงบประมาณการดำเนินงานให้แก่ศูนย์บริการถ่ายทอดการสื่อสารแห่งประเทศไทย ตั้งแต่ปีพ.ศ.2555 จนถึงปัจจุบัน  ซึ่งพบว่าในภูมิภาคเอเชียมีเพียงประเทศญี่ปุ่น เกาหลี และประเทศไทยเท่านั้น ที่มีศูนย์บริการการสื่อสารสำหรับผู้พิการทางการได้ยินผ่านระบบโทรคมนาคม

  • ศูนย์บริการคนพิการทั่วไป

          พ.ศ.2557 มูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ ได้จัดตั้งศูนย์บริการคนพิการทั่วไป ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการปี 2550 แก้ไขเพิ่มเติม 2556 เพื่อให้บริการที่เป็นประโยชน์ในการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ได้แก่

  1. บริการล่ามภาษามือแก่คนหูหนวก
  2. การจัดหางานสำหรับคนพิการทุกประเภท
  3. ผลิตสื่อสำหรับคนหูหนวก
  4. ลงพื้นที่เยี่ยมคนพิการเพื่อนำไปสู่การส่งเสริมสวัสดิการจากภาครัฐ
  • ศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียน

          ด้วยวิสัยทัศน์ของศาสตราจารย์วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ (ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานกิตติมศักดิ์) ที่เชื่อมั่นว่า คนพิการมีความสามารถและมีพลังทัดเทียมคนปกติ ความพิการจึงไม่ใช่สิ่งสำคัญ แต่สำคัญที่ความเสมอภาคในเรื่องโอกาส ในปีพ.ศ.2559 จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการก่อตั้ง ศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียนแห่งแรก ในนาม ยิ้มสู้คาเฟ่ เพื่อฝึกอาชีพด้านบริการ การประกอบอาหาร การฝึกอบรมบาริสต้า และทักษะการขาย ให้แก่คนพิการที่อยู่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยมีพื้นที่ฝึกปฏิบัติงานจริงอยู่ในยิ้มสู้คาเฟ่ ซึ่งตั้งอยู่ในอาคารที่ทำการของมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ

          ต่อมาได้มูลนิธิฯ ได้ขยายโอกาสสู่คนพิการในพื้นที่จังหวัดอื่นๆ ด้วยเล็งเห็นว่าคนพิการส่วนใหญ่ของประเทศอาศัยอยู่ตามชนบท บางส่วนเข้ามาหารายได้จากการขอเรี่ยไรเงินในเขตเมือง  ซึ่งแน่นอนว่ามีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน และมักเข้าไม่ถึงสิทธิและสวัสดิการต่างๆ ของคนพิการตามที่กฎหมายกำหนด จึงเป็นที่มาของการจัดตั้ง ศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียน อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ บนพื้นที่ 30 ไร่ ในปีพ.ศ.2561 และ ศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียน อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม บนพื้นที่ประมาณ 29 ไร่ ในปีพ.ศ.2562

     โดยศูนย์ฝึกอาชีพฯ ทั้ง 2 แห่ง จะเป็นพื้นที่ในการฝึกอบรมทักษะอาชีพภายใต้หลักสูตรที่ออกแบบมาเพื่อคนพิการ ผู้ดูแลคนพิการ และครอบครัวของผู้พิการโดยเฉพาะ โดยใช้เวลาในการอบรมภาคทฤษฎีจำนวน 93 ชั่วโมง และภาคปฏิบัติอีก 507 ชั่วโมง รวมระยะเวลาทั้งสิ้น 3 เดือน หรือ 100 วัน ที่ผู้พิการและครอบครัวจะต้องอาศัยและใช้ชีวิตอยู่ภายในศูนย์ฝึกอาชีพ เพื่อให้เกิดการปรับตัว ปรับวิธีคิด ควบคู่ไปกับการเรียนรู้งานในอาชีพต่างๆ อย่างครบถ้วนทุกขั้นตอน ทั้งการเพาะปลูก การผลิต การบริหารต้นทุนรายรับรายจ่าย การแปรรูป การตลาด และการจัดจำหน่าย โดยมุ่งเน้นไปที่อาชีพที่สามารถมีรายได้รายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน โดยผู้พิการสามารถทำได้จริงด้วยตนเอง ใช้พื้นที่น้อย ลงทุนต่ำและรายได้

     เพื่อให้การก่อสร้างศูนย์ฝึกอาชีพทั้ง 2 แห่งนี้ประสบผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว มูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ จึงได้จัดระดมทุนจากผู้มีจิตศรัทธาผ่านโครงการ ปั่นไปไม่ทิ้งกัน No One Left Behind ครั้งแรกในปีพ.ศ.2561 และจัดต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 2 ในปีพ.ศ.2562 ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เกิดจากการร่วมแรงร่วมใจระหว่างนักปั่นจิตอาสาตาดีและนักปั่นตาบอดรวมกว่า 100 ชีวิต สละเวลาส่วนตัวมาร่วมกันปั่นจักรยานเป็นระทางไกลหลายร้อยกิโลเมตร ให้สังคมได้ประจักษ์ถึงศักยภาพและความไม่ย่อท้อของคนพิการ และในปีพ.ศ.2563 ได้จัดโครงการ วิ่งไปไม่ทิ้งกัน No One Left Behind เป็นครั้งแรก เพื่อเป็นการตอกย้ำให้สังคมได้รับรู้ว่าคนตาบอดมีความสามารถที่หลากหลายไม่แตกต่างจากผู้ที่มีร่างกายปกติ

     โดยมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ทรงวางศิลาฤกษ์แก่ศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียน อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันอังคารที่ 23  มกราคม พ.ศ.2561 อีกทั้งเสด็จเป็นประธานในการเปิดโครงการ “ปั่นไปไม่ทิ้งกัน No One Left Behind ปีที่ 2” และทรงร่วมปั่นจักรยานนำจาก สนามฟุตบอล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ถึงจังหวัดสมุทรปราการ ระยะทางรวม 50 กิโลเมตร เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2562 พร้อมกันนี้ยังทรงร่วมวิ่งนำในโครงการวิ่งไปไม่ทิ้งกัน No One Left Behind ซึ่งจัดขึ้น ณ สวนหลวงร.9 เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2563 อีกด้วย

  • ช่องทางการสนับสนุนเงินบริจาคให้แก่มูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ

  • บริจาคผ่านพร้อมเพย์คิวอาร์โค้ด

มูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ

ผู้มีจิตศรัทธาที่ได้กรุณาบริจาคเงิน สามารถส่งหลักฐานการบริจาค เช่น ภาพสลิปการโอน หรือ ภาพถ่ายใบนำฝากเงินมาได้ที่ ID Line : @wiriya เพื่อทางมูลนิธิฯ จะได้จัดส่งใบเสร็จรับเงินสำหรับนำไปหักลดหย่อนภาษีต่อไป