Share this...

ช่วงนี้ถึงจะมีฝนอยู่บ้าง แต่อากาศร้อนก็ยังร้อน ควรหาผลไม้หวาน ๆ ทานให้ชื่นใจสักหน่อย จึงต้องเดินทางจากย่านอรุณอมรินทร์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ ไปยังศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียน อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม หรือ ยิ้มสู้ฟาร์ม เพราะความสดชื่นที่ตามหา…อยู่ที่นั่น

เมื่อมาถึงที่ยิ้มสู้ฟาร์มแล้ว ก็ได้พบกับหญิงสูงวัย 2 คน คือ “ป้าไก่” กับ “ป้าติ๋ว” กำลังชวยกันฉีกเห็ดนางฟ้าภูฐานสดๆ อย่างเบามือ คุณป้าบอกว่า จะนำไปทำเห็ดสวรรค์ (ขอแอบกระซิบนิดนึงว่า “อร่อยมาก”) แต่ต้องออเดอร์ล่วงหน้า เพราะเห็ดนางฟ้าภูฐานของศูนย์ฯ ถูกจับจองล่วงหน้าเกือบหมด

 

ขณะที่นั่งเล่นพักคลายร้อนเลยได้มีโอกาสนั่งคุยกับคุณป้าทั้ง 2 ถึงต้นสายปลายเหตุของการมาทำงานที่ ยิ้มสู้ฟาร์ม เรียกได้ว่า ฟังแล้วรู้สึกมีพลังขึ้นมาเลยทีเดียว

ป้าไก่เล่าว่า เมื่อก่อนอยู่บ้านเฉย ๆ ไม่กล้าออกจากบ้าน เพราะกลัวว่าตนเองจะไปสร้างภาระให้คนรอบข้าง ทำให้เขาลำบากที่ต้องมาดูแล

ส่วนป้าติ๋วนั้น ในอดีตเคยรับจ้างเย็บผ้าอยู่ที่บ้าน รับงานมาทำแล้วก็โดนโกงบ่อยครั้ง รายได้จากการเย็บผ้าประมาณ 4-5 พันบาทต่อเดือน หากโดนโกงจะเหลือเงินเพียง 1-2 พันบาทเท่านั้น ซึ่งไม่พอที่จะเลี้ยงชีพตัวเองได้ จนกระทั่งผู้นำชุมชนได้ชักชวนให้มาร่วมทำงานกับศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียน อำเภอนครชัยศรี หรือ ยิ้มสู้ฟาร์ม ตั้งแต่ศูนย์เริ่มสร้างใหม่ ๆ งานที่ได้รับมอบหมายคือการปลูกเมล่อนในโรงเรือน ตั้งแต่การผสมเกสร การบำรุงรักษา การกำจัดแมลงรบกวน การถางวัชพืช จนกระทั่งเก็บเกี่ยว ๆ ที่สำคัญคือ เมล่อนของยิ้มสู้ฟาร์มปลูกแบบออร์แกนิก จึงต้องอาศัยการดูแลเอาใจใส่เป็นพิเศษ

ทั้งป้าไก่และป้าติ๋วพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า
“กว่าที่เมล่อนสักลูกจะเติบโตจนถึงมือลูกค้าได้ต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 3 เดือน เราช่วยกันดูแลทุกขั้นตอนเพื่อให้ลูกค้าได้รับสินค้าที่มีคุณภาพดีที่สุด ไม่ใช่แค่เมล่อนที่นำไปปอกรับประทานได้รสชาติอร่อย แต่ต้องดีต่อสุขภาพและได้รับความสุขกลับไปด้วย”

 

เมล่อนจะสร้างความสุขได้อย่างไร???

“แค่เห็นรอยยิ้มของลูกค้า เราก็มีความสุขแล้วที่เราสามารถปลูกผลไม้ดีๆ ให้ลูกค้าได้ทาน ป้าตั้งใจว่าจะพัฒนาผลิตภัณฑ์ของยิ้มสู้ฟาร์มให้มีคุณภาพดี เป็นที่ยอมรับของลูกค้าทั่วไป เพื่อให้ยิ้มสู้ฟาร์มมีการเติบโตไปเรื่อย ๆ และมีผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพส่งถึงมือลูกค้าตลอดไป”

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาทั้งป้าไก่และป้าติ๋วพยายามนำผลผลิตของยิ้มสู้ฟาร์ม ไปประกาศขายในกลุ่มขายของต่าง ๆ บนโซเชียลมีเดียจนสินค้าขายหมดอย่างรวดเร็ว เกิดเป็นเงินทุนหมุนเวียนเพื่อกลับไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ภายในศูนย์ฯ ที่คนพิการได้ช่วยกันคิดช่วยกันทำขึ้นมา

ศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียน ไม่เพียงแต่สนับสนุนให้คนพิการได้มีงานทำ มีรายได้เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพเท่านั้น แต่เป้าหมายสูงสุดคือการเปิดพื้นที่ให้คนพิการได้พิสูจน์ว่าตนเองนั้นมีความสามารถ มีคุณค่าที่จะช่วยสร้างสรรค์สิ่งดีๆ เพื่อสร้างสังคมที่น่าอยู่ร่วมกัน

เชิญร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการเปิดพื้นที่แห่งโอกาสให้คนพิการได้แสดงศักยภาพ โดยสมทบทุนการดำเนินงานแก่ทุนมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ เพียงสแกน QR code e-Donation
บริจาคผ่านแอปฯ ธนาคารที่ท่านใช้งาน ระบบจะส่งข้อมูลการบริจาคเข้ากรมสรรพากรโดยตรงทันที ท่านจะได้ลดหย่อนภาษีและได้รับเงินภาษีคืนเร็วขึ้น โดยไม่ต้องเก็บหลักฐานการบริจาค หรือทางบัญชีธนาคารกรุงเทพ ชื่อบัญชี มูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ 162-3-06432-4 พร้อมส่งหลักฐานการบริจาคมาได้ทาง ID Line : @wiriya ทางมูลนิธิฯ จะจัดส่งใบเสร็จให้แก่ท่านเพื่อนำไปลดหย่อนภาษีต่อไป