เบรลล์บล็อค (Braille Block)

Share this...
หลายคนอาจเคยสงสัยว่า แผ่นพื้นรูปวงกลมเป็นจุด หรือแกนยาวๆ สีเหลืองตามทางเดินสาธารณะคืออะไร และมีประโยชน์อย่างไรต่อผู้พิการ วันนี้เราจะมาหาคำตอบกันครับ
แผ่นพื้นนี้เรียกว่า เบรลล์บล็อค ( Braille Block) หรือที่เข้าใจกันได้ง่ายก็คือ อักษรเบรลล์ที่ปรากฎบนทางเท้า ให้ผู้พิการทางสายตารับรู้ได้ว่า จุดไหน คือ จุดที่ต้องหยุด หรือ รอ และจุดไหนที่สามารถเดินตรงไปข้างหน้าได้
Seiichi Meyaki ครูโรงเรียนตาบอดแห่งหนึ่งในประเทศญี่ปุ่น ได้คิดค้นทางเท้าที่เรียกว่า Tenji หรือ Braille Block ซึ่งเป็นทางเท้าสำหรับผู้พิการทางสายตา ขึ้นในปีค.ศ.1965 โดยใช้วัสดีที่เป็นกระเบื้อง และได้นำมาใช้จริงครั้งแรก ในปี ค.ศ. 1967 หน้าโรงเรียนสอนคนตาบอดในเมืองโอกายาม่า ซึ่งได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดี พร้อมทั้งเสียงชื่นชมในการคิดค้น และมีหน่วยงานการรถไฟของประเทศญี่ปุ่น สนับสนุนให้จัดทำ Braille Block ตามสถานีรถไฟก่อน และต่อมาได้ถูกนำมาใช้กันอย่างแพร่หลายในหลายเมืองของประเทศญี่ปุ่น จนกระทั่งทั่วโลกให้ความสำคัญกับการคิดค้นและพัฒนาให้เหมาะแก่การใช้งานมากยิ่งขึ้น
แต่ในปัจจุบันการสร้างทางเท้าในกรุงเทพมหานครหรือพื้นที่ต่าง ๆ ในประเทศไทยมีการแก้ไขและซ่อมแซมเนื่องมีการชำรุดและเสื่อมโทรมไปตามกาลเวลา เมื่อมีช่างเข้ามาแก้ไขพื้นทางเท้าแล้ว เบรลล์บล็อค ก็มักจะถูกย้ายตำแหน่งหรือวางในตำแหน่งที่ผิดไป ส่งผลให้ผู้พิการทางสายตาสับสนในสัญลักษณ์ ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายได้
ศาสตราจารย์วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ ผู้ก่อตั้งและประธานกิตติมศักดิ์มูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ ได้กล่าวไว้ในงานเสวนาวิชาการหัวข้อ “ธรรมศาสตร์ + เบรลล์บล็อก = จุดเริ่มต้นของความเท่าเทียม” เนื่องในวันคนพิการแห่งชาติ 14 พ.ย. 2563 ว่า
“แม้ประเทศไทยจะมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับคนพิการจำนวนมากแต่ในทางปฏิบัติกลับพบว่าสิทธิของคนพิการไม่ค่อยเกิดขึ้น การออกแบบต่างๆ จึงไม่ได้คำนึงถึงคนพิการ โดยเฉพาะทางเท้าที่แม้จะมีการทำพื้นผิวต่างสัมผัส (Braille Block) แต่ก็ไม่เกิดประโยชน์ มากไปกว่านั้นคือให้โทษแก่คนพิการเพราะไม่เคยมีการทดสอบด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัย”
แล้วท่านผู้อ่านคิดเห็นอย่างไรเกี่ยวกับ “เบรลล์บล็อค” ในประเทศไทยครับ แชร์ความคิดความเห็นกันมาได้เลยครับ

You may have missed